Pages

Thursday, September 3, 2020

ชาวพุทธภาคใต้แห่ทำบุญรับตายาย “วันสารทเดือนสิบ” ตามวัดต่างๆ กันอย่างคึกคัก - ผู้จัดการออนไลน์

mungkinbelum.blogspot.com


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - พุทธศาสนิกชนในหลายจังหวัดทางภาคใต้ตอนล่าง แห่เดินทางไปยังวัด และสำนักสงฆ์ต่างๆ เพื่อร่วมทำบุญยิ่งใหญ่ประจำปีให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เนื่องใน “วันสารทเดือนสิบ” หรือวันรับตายายกันอย่างเนืองแน่น

ตรัง
ตรัง - ที่วัดกุฏิยาราม ถนนเพลินพิทักษ์ ในเขตเทศบาลนครตรัง รวมทั้งวัด และสำนักสงฆ์ต่างๆ ใน จ.ตรัง ได้มีประชาชนต่างจูงมือกันไปร่วมทำบุญวันสารทเดือนสิบ หรือวันรับตายาย หรือวันทำบุญเล็กอย่างคึกคัก พร้อมทั้งมีการนำอาหารคาวหวานไปร่วมทำบุญกันอย่างเนืองแน่น เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ ปู่ย่าตายาย หรือผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งถือเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความสามัคคี และความกตัญญูกตเวที ตามความเชื่อที่ว่า บุคคลเหล่านั้นจะกลับมาเยี่ยมลูกหลานในช่วงวันสารทเดือนสิบของทุกปี รวมทั้งยังเป็นการช่วยกันสืบทอดประเพณีที่สำคัญของชาวปักษ์ใต้

ประเพณีวันสารทไทย หรือวันสารทเดือนสิบจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันบุญแรก หรือวันรับตายาย ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 3 กันยายน 2563 และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันบุญหลัง หรือวันส่งตายาย ซึ่งตรงกับวันที่ 17 กันยายน 2563 ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ถือว่าพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรกดังเดิมในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10

สำหรับอาหารคาวหวานที่นำมาทำบุญในวันนี้ โดยเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมดีซัม หรือขนมรู ขนมเทียน และขนมกง หรือขนมไข่ปลา เพราะมีความเชื่อที่ว่าขนมทั้งหมดนี้จะเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งของเครื่องใช้ ซึ่งผู้ล่วงลับไปแล้วสามารถนำไปใช้เป็นยานพาหนะ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ เงินทอง และของเล่นตามประเพณี นอกจากนั้น ยังได้มีการนำอาหารอีกส่วนหนึ่งไปตั้งบริเวณรอบนอกวัด เพื่อเป็นการตั้งเปรต หรือสัมภเวสี อย่างละเล็กอย่างละน้อย หรือตามความเชื่อที่เรียกว่าการตั้งเปรต ก่อนที่จะมีการถวายสังฆทานแก่พระสงฆ์ พร้อมกับกรวดน้ำให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ อันถือเป็นการทำพิธีอย่างสมบูรณ์

ยะลา
ยะลา - ที่วัดถ้ำคูหาภิมุข อ.เมือง จ.ยะลา พุทธศาสนิกชนใน จ.ยะลา ต่างพาครอบครัว พร้อมด้วยข้าวปลาอาหาร ผลไม้ ขนมเดือนสิบ และดอกไม้ธูปเทียน เข้าวัด ร่วมพิธีทำบุญวันรับตายาย หรือวันบุญเดือนสิบหนแรก ซึ่งเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาของชาวพุทธภาคใต้ โดยมีบุตรหลานที่เป็นชาวพุทธจะเดินทางมาวัด เพื่อทำบุญให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยถือว่าเป็นวันที่ประตูนรก สวรรค์ได้เปิดให้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษได้เดินทางกลับมารับเอาสาวนบุญกุศลที่ลูกหลานได้ทำบุญอุทิศแก่ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปแล้ว

ซึ่งในส่วนของวัดต่างๆ ในพื้นที่ จ.ยะลา จะมีขาวพุทธเดินทางไปทำบุญโดยพร้อมเพรียงกัน ประกอบด้วย การสวดมนต์มาติกาบังสกุล กรวดน้ำแผ่เมตตา และตักบาตรข้าวปลาอาหาร พร้อมทั้งการนำเอาข้าวปลาอาหาร ขนมผลไม้ โดยเฉพาะขนมเดือนสิบ ทั้งขนมลา ข้าวพอง ขนมเจาะหู ข้าวต้ม ดอกไม้ธูปเทียนบางส่วนร่วมในลานเปรตเพื่อส่งต่อให้บรรพบุรุษ ขณะที่ทางวัดยังคงต้องควบคุมมาตรการการป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ร่วมทำบุญได้รักษาระยะห่าง ทั้งการนั่งฟังเทศน์ และการร่วมกิจกรรมต่างๆ ในการทำบุญวันนี้ด้วย

นราธิวาส
นราธิวาส - บรรยากาศของวัดขวัญประชา และวัดเทพวิมล ในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ในงานบุญสารทเดือนสิบ เต็มไปด้วยพุทธศาสนิกชนที่นำอาหารคาวหวานมาถวายพระ และอีกส่วนหนึ่งไปวางบนร้านเปรตที่จะมีทั้งที่ยกสูงเหนือพื้นดินเล็กน้อย ไปจนกระทั่งมีความสูงหลายเมตร เพื่อทำบุญเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพชน เสน่ห์ของงานบุญสารทเดือนสิบที่ทุกคนรอคอย คือ การได้ร่วมชิงเปรต โดยมีทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ที่ต่างแย่งชิงของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพชน เพราะเชื่อว่าจะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และยังได้โชคลาภจากเงินที่ใส่มาในถุงเซ่นไหว้ ทั้งเหรียญบาทเหรียญ 10 บาท หรืออาจจะมากกว่านั้นแล้วแต่กำลังทรัพย์ของผู้ทำบุญ

ดังนั้น จึงถือเป็นงานบุญสำคัญของคนใต้ ที่บุตรหลานญาติพี่น้องไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดของประเทศก็จะกลับมารวมตัวกันเพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที และระลึกถึงบรรพชนผู้ล่วงลับ ทุกครอบครัวล้อมวงกันจัดสำรับอาหารที่เรียกว่า “หฺมฺรับ” ที่ประกอบด้วยวัตถุดิบที่หลากหลาย เช่น ข้าวสาร หอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล อาหารแห้ง ผัก ผลไม้ เข็มด้าย หรือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และสิ่งที่เห็นจนชินตาทุกครั้งที่มีงานบุญสารทเดือนสิบ คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมกง ขนมดีซำ ขนมบ้า ในระหว่างการตระเตรียมของไหว้ตั้งแต่เช้ามืด แต่ละบ้านที่เคยเงียบสงบเพราะอยู่กันแบบครอบครัวเล็กๆ ก็จะมีเสียงพูดคุย เสียงหัวเราะของญาติพี่น้องที่สอบถามสารทุกข์สุขดิบด้วยความรักกันเป็นระยะๆ เพราะกว่าจะมารวมตัวกันได้ไม่ใช่เรื่องง่าย

โดยในงานบุญสารทเดือนสิบได้เริ่มต้นแล้วด้วยการรับตายาย และบรรพชนผู้ล่วงลับกลับมายังโลกมนุษย์ เพื่อเยี่ยมเยียนบุตรหลานของตนเอง ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 หรือในปีนี้ที่ตรงกับวันที่ 3 กันยายน 2563 เป็นวันแรกของงานเดือนสิบ เรียกว่าเป็น “วันรับเปรต” จากนั้นจนถึงวันที่ 17 กันยายน 2563 จะมีการประกอบพิธีเช่นเดียวกันนี้เรียกว่า “วันส่งเปรต” เพื่อกลับสู่ภพภูมิต่อไป เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีกรรมงานเดือนสิบ

ทั้งนี้ ตามวัดต่างๆ ได้มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคง 3 ฝ่าย ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองสนธิกำลังเข้ามาดูแลพื้นที่ตามวัดวาอารามต่างๆ อย่างเข้มงวด รวมทั้งเส้นทางโดยรอบ และปากทางเข้าวัดเพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่พุทธศาสนิกชนอย่างเต็มที่ด้วย


Let's block ads! (Why?)



"ต่างๆ" - Google News
September 03, 2020 at 12:23PM
https://ift.tt/3gZRvjP

ชาวพุทธภาคใต้แห่ทำบุญรับตายาย “วันสารทเดือนสิบ” ตามวัดต่างๆ กันอย่างคึกคัก - ผู้จัดการออนไลน์
"ต่างๆ" - Google News
https://ift.tt/36O1zJu
Home To Blog

No comments:

Post a Comment