Pages

Thursday, August 6, 2020

วันอาเซียน หรือ ASEAN Day คืออะไร? มีความสำคัญอย่างไร? - ไทยรัฐ

mungkinbelum.blogspot.com

หลายคนอาจยังสงสัยว่า ทำไมวันนี้จึงเป็น “วันอาเซียน”?

วันอาเซียน หรือ ASEAN Day คืออะไร? มีความสำคัญอย่างไร? ทำไมจึงต้องมีการจัดงานฉลองในโอกาสนี้ทุกๆ ปี? ทำไมคนไทยต้องให้ความสำคัญกับวันนี้? คนไทยได้ประโยชน์อะไรจากอาเซียนบ้าง?

เชื่อว่าหลายๆ คนคงมีคำถามเหล่านี้คำถามใดคำถามหนึ่งอยู่ในใจบ้าง...

อาเซียน หรือมีชื่อเต็มๆ ว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกอยู่ในความตึงเครียดอย่างมาก อันเป็นผลมาจากสงครามเย็นและความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ระหว่างประเทศที่สนับสนุนอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยกับประเทศที่ยึดมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ โดย ฯพณฯ พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในขณะนั้น ได้เสนอแนวคิดที่จะให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถควบคุมทิศทางการดำเนินนโยบายด้านต่างๆ และกำหนดอนาคตของตนเองได้อย่างแท้จริง รวมทั้งยังเป็นการช่วยรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของ พ.อ.(พิเศษ) ถนัด ซึ่งเป็นทั้งนักการทูตและผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศที่ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในบิดาผู้ให้กำเนิดอาเซียน ทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ได้ร่วมกันลงนามในปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ที่พระราชวังสราญรมย์ เพื่อก่อตั้งอาเซียนขึ้น เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา วันที่ 8 สิงหาคม ของทุกๆ ปี จึงถูกจัดให้เป็นวันเฉลิมฉลองการก่อตั้งอาเซียน กรมอาเซียน ในฐานะสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ จึงจัดงาน ASEAN Day เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญของการก่อตั้งอาเซียน และเป็นการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้แก่พี่น้องประชาชนชาวไทย

ในช่วงปีที่ผ่านมา แม้ว่าคนไทยจะได้สัมผัสกับเรื่องราวเกี่ยวกับอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.2562 ไทยได้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนตามระบบหมุนเวียน ที่ทุกประเทศสมาชิกจะต้องผลัดกันเป็นประธาน อาเซียนเป็นเวลา 1 ปี เพื่อทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในระดับต่างๆ ของอาเซียน ทั้งการประชุมระดับผู้นำ หรือที่เราเรียกกันคุ้นปากว่า “อาเซียนซัมมิท” การประชุมระดับรัฐมนตรี การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ไปจนถึงการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 300 การประชุม และสื่อทุกสำนักทุกแขนงต่างให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยได้นำเสนอข่าวคราวต่างๆ สู่พี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากบุคลากรภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนและประชาชนที่สนใจเรื่องนี้กลุ่มหนึ่งจะตื่นตัวและ “อิน” กับอาเซียนเป็นพิเศษแล้ว ยังเป็นการยากที่จะกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกว่าได้ประโยชน์จากอาเซียน เพราะ “ดูเหมือน” อาเซียนยังเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งก็ไม่เกินกว่าวิสัยที่จะเข้าใจได้ เพราะผลลัพธ์ของการประชุมต่างๆ ที่ออกมายังไม่สามารถถ่ายทอดให้ประชาชนเข้าใจและเกิดความรู้สึกของการมีส่วนร่วมได้ จึงเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่จะต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น

แม้ปัจจุบันสงครามเย็นได้สิ้นสุดลงแล้ว และอาเซียนได้เติบโตขึ้นเป็นลำดับ โดยได้ยกระดับการรวมตัวกันเป็น “ประชาคมอาเซียน” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 แต่อาเซียนยังคงเผชิญกับความท้าทายรูปแบบใหม่อยู่ตลอดเวลา เช่น โรคระบาด ภาวะโลกร้อน ปัญหาหมอกควัน การก่อการร้าย และการขยายอิทธิพลของมหาอำนาจนอกภูมิภาค ซึ่งความท้าทายใหม่ๆ เหล่านี้ ส่งผลกระทบไม่เพียงประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ส่งผลกระทบไปยังประเทศต่างๆ ในวงกว้าง อาเซียนจึงยังคงเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญสำหรับประเทศสมาชิกที่จะใช้เป็นเวทีในการประชุมหารือ หาทางออกร่วมกันในประเด็นความท้าทายต่างๆ อีกทั้งยังสามารถเป็นเวทีในการเจรจากับชาติมหาอำนาจต่างๆ เช่น สหรัฐฯ จีน รัสเซีย เพื่อต่อรองผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกอาเซียนได้อีกด้วย

ในปีนี้เวียดนามในฐานะประธานอาเซียน ภายใต้แนวคิด "Cohesive and Responsive" หรือ “แน่นแฟ้นและตอบสนอง” ได้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 และการประชุมที่เกี่ยวข้องขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกได้ใช้โอกาสนี้หารือเกี่ยวกับแนวทางในการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับ COVID-19 โดยเน้นย้ำความสำคัญของการดูแลและคุ้มครองประชาชนในช่วงวิกฤติ และเพื่อการฟื้นตัวของอาเซียนที่ยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ที่ประชุมได้ประกาศจัดตั้งกองทุนอาเซียนในการรับมือ COVID-19 ตามข้อเสนอของไทย โดยไทยได้แสดงความพร้อมที่จะบริจาคเงินสมทบกองทุนดังกล่าว จำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยังได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์เพื่อสนับสนุน “อาเซียนที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น” “อาเซียนที่เข้มแข็งมากขึ้น” และ “อาเซียนที่มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น” ซึ่งนับเป็นผลลัพธ์ของการประชุมอาเซียนที่ตอบสนองอย่างเป็นรูปธรรมต่อความท้าทายรูปแบบใหม่ที่กำลังคุกคามอาเซียน และส่งผลต่อประชาชนของอาเซียนโดยตรง

สำหรับการจัดงาน “วันอาเซียน” ที่กระทรวงการต่างประเทศ ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ 53 ของการก่อตั้งอาเซียนนี้ จะแตกต่างจากปีที่ผ่านๆ มา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จากเดิมที่จะเน้นการจัดกิจกรรมสำหรับเยาวชน อาทิ การแข่งขันตอบปัญหา การจัดแสดงนิทรรศการ การประกวดเขียนเรียงความ ซุ้มเกมกิจกรรม และการออกร้านของสถานทูตประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมุ่งส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักรู้ในเรื่องอาเซียนให้กับเยาวชนและประชาชนที่เข้าร่วมงาน ในปีนี้จะเป็นการจัดงานวิถีใหม่ หรือ New Normal เน้นรูปแบบงานเชิงสัญลักษณ์ที่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ คือ การเชิญธงอาเซียนขึ้นสู่ยอดเสา และการสัมมนาเชิงวิชาการทางไกลผ่านระบบ Online โดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาเซียนในมิติต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ภายใต้หัวข้อ “อาเซียน : สู่วิถีใหม่ ก้าวอย่างไรให้ยั่งยืน?” ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สนใจทุกคนติดตามรับชมรับฟังได้ผ่านทาง Facebook Live ของวิทยุสราญรมย์

หวังว่าการจัดกิจกรรม ASEAN Day ในปีนี้ จะช่วยตอบคำถามว่าไทยได้ประโยชน์อะไรจากอาเซียนได้บ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วิถีใหม่” ของอาเซียน จะช่วยนำพาให้ประเทศไทยและคนไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และสามารถฟื้นตัวให้กลับมาเข้มแข็ง เพื่อก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนได้อย่างไร

อ่านเพิ่มเติม...

Let's block ads! (Why?)



"ต่างๆ" - Google News
August 07, 2020 at 06:00AM
https://ift.tt/3iferg7

วันอาเซียน หรือ ASEAN Day คืออะไร? มีความสำคัญอย่างไร? - ไทยรัฐ
"ต่างๆ" - Google News
https://ift.tt/36O1zJu
Home To Blog

No comments:

Post a Comment