สัปดาห์ที่แล้ว ผมเล่าเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อโฆษณาชวนเชื่อยุคใหม่ และยกตัวอย่างวิธีชักใยโซเชียลมีเดีย (Social Media Manipulation) โดยใช้บอตและ Troll เพื่อแพร่ข้อมูลเท็จออกไป แม้เรื่องนี้จะทราบกันมากขึ้น และบริษัทต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์พยายามออกนโยบายป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้ แต่ไม่สามารถหยุดได้ สถาบันวิจัย อ็อกซ์ ฟอร์ด อินเทอร์เน็ต พบว่า ปีที่แล้วมีรัฐบาลหรือกลุ่มการเมืองใช้วิธีจัดการโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 150% คือ เพิ่มจากจำนวน 48 ประเทศปี 2561 เป็น 70 ประเทศ ปี 2562
ในรายงานพบว่า รัฐบาลและกลุ่มการเมืองหลายประเทศใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ ทั้งชี้นำการเลือกตั้ง หรือความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ โดยใช้วิธีต่างๆ ตั้งแต่ชักใย และชี้นำความคิดเห็นต่างๆ การเผยแพร่ข้อความที่สนับสนุนฝ่ายตัวเอง โจมตีฝ่ายการเมืองตรงข้าม ก่อกวนผู้ไม่เห็นด้วย และเผยแพร่ข่าวสารและข้อความที่สร้างความเกลียดชังทางสังคม หรือใช้แบ่งฝักแบ่งฝ่ายผู้คนในสังคม
รัฐบาลหลายประเทศ หรือแม้แต่นักการเมือง นักเคลื่อนไหว และกลุ่มลัทธิต่างๆ ได้จัดตั้งกองทัพไซเบอร์ (Cyber troop) ซึ่งอาจเป็นทีมงานที่ตั้งขึ้นเพื่อชักใยโซเชียลมีเดีย ใช้บิ๊ก ดาต้า ระบบอัตโนมัติ อัลกอริทึม หรือโฆษณาชวนเชื่อเชิงคำนวณ (Computational Propaganda) ชี้นำความเห็นต่างๆ การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ได้ผลที่แม่นยำรวดเร็ว มีการใช้โฆษณาชวนเชื่อเชิงคำนวณ 3 ด้าน คือ 1.การละเมิดสิทธิมนุษยชน 2.ลดความน่าเชื่อถือของคู่แข่งทางการเมือง และ 3.การเบี่ยงเบนความขัดแย้งทางการเมือง
วิธีโฆษณาชวนเชื่อผ่านโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่อาจไม่ใช้บัญชีที่มีตัวตนจริง แต่เป็นบัญชีผีที่ถูกสร้างขึ้น จากวิจัยพบว่า มีกองทัพไซเบอร์ 56 ประเทศ จาก 70 ประเทศที่ใช้บัญชีผีที่เป็นบอต ทั้งพบว่ามีการสร้างบัญชี cybrog ที่ใช้ระบบออโตเมชั่นที่มีคนดูแล รวมถึงซื้อบัญชีหรือขโมยบัญชีโซเชียลมีเดียของบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือผู้ติดตามจำนวนมากมาใช้งาน กลุ่มการเมืองหัวรุนแรงบางประเทศ ใช้บอตในทวิตเตอร์ทำให้ผู้คนเข้าใจผิดคิดว่า มีผู้ติดตามกลุ่มใหญ่ในโซเชียลมีเดียและบัญชีนั้นน่าเชื่อถือ ทั้งที่ความจริงเป็นข้อความ “ทวีตผี” ของกลุ่ม และเมื่อผู้คนติดตามมากขี้นจะเกิดอาการอุปทานหมู่คิดว่าข้อความต่างๆ ของบัญชีนั้นความน่าเชื่อถือ
กองทัพไซเบอร์มีกลยุทธ์ในการชักใยโซเชียลมีเดียที่แบ่งออกเป็น 5 รูปแบบ คือ 1.การสร้างข้อมูลเท็จเพื่อชี้นำไปในทางที่ผิด 2.การสร้างบัญชีหรือข้อความจำนวนมหาศาล 3.กลยุทธ์ที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูล 4.การใช้ Troll หรือการล่วงละเมิด และ 5. การปั่น hashtag
การวิจัยนี้ยังได้ศึกษาข้อมูลประเทศต่างๆ และพบว่าเครื่องมือโซเชียลมีเดียที่ประเทศส่วนใหญ่ใช้โฆษณาชวนเชื่อ คือ เฟซบุ๊ค ตามมาด้วยทวิตเตอร์ แต่ก็เริ่มแชร์ภาพและวิดีโอในการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่ออย่างยูทูบ และอินสตาแกรม สำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ค ทั้งพบว่า กองทัพไซเบอร์บ้านเรามีการจัดตั้งอย่างถาวรและทำงานด้านนี้ต่อเนื่อง ผู้วิจัยระบุว่ามีหลักฐานที่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ผ่านการอบรมมาอย่างดี
คนอเมริกันจำนวนมากทราบเรื่องของบอตที่มีในโซเชียลมีเดีย แต่ยอมรับว่าเป็นการยากที่จะแยกว่ามีบัญชีใดเป็นบอตหรือข้อมูลใดถูกชักใย ยิ่งประเทศที่มีเสรีภาพ ความต้องการสื่อสาร แลกเปลี่ยนความเห็นจำเป็นมาก จึงไม่สามารถแบนการใช้โซเชียลมีเดียได้ สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องสอนให้ผู้คนรู้วิธีการเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพที่ดี
การใช้โซเชียลมีเดียที่ถูกบริหารจัดการโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การให้ข้อมูลที่ผิดย่อมมีอันตรายต่อสังคม โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดียที่ผู้ใช้จำนวนมากไม่ระบุตัวตนที่แท้จริงเป็นอวตาร ใช้บอตสร้างข้อความเท็จ ในการปั่น hashtag ต่างๆ ยิ่งเป็นอันตราย บางประเทศใช้วิธีนี้มาหลายปี เมื่อไม่มีการแก้ปัญหาก็อาจเริ่มนำไปสู่ปัญหาทางเมืองและความแตกแยกในสังคมอย่างรุนแรง
แม้ในรายงานวิจัยดังกล่าว จะไม่ได้บอกแนวทางแก้ไข แต่ความเป็นจริง เราสามารถสอนวิธีใช้สื่อออนไลน์ที่ดีให้ทุกคนได้ตั้งแต่เด็ก ฝึกให้เยาวชนรู้จักค้นข้อมูลที่ถูกต้อง รู้จักคิดเชิงวิเคราะห์ให้แยกแยะได้ว่าข้อมูลหรือข่าวสารใดเป็นจริงหรือเท็จ ฝึกจริยธรรม รู้จักการระบุตัวตน พยายามแสดงตัวตนที่แท้จริงมากกว่าการทำตัวเป็นอวตารในโลกโซเชียลมีเดีย สอนให้ใช้ข้อความในโลกโซเชียลมีเดียที่สุภาพไม่หยาบคาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม เมื่อผู้คนส่วนใหญ่เป็นพลเมืองออนไลน์ที่มีคุณภาพ อาจพอลดปัญหาการโฆษณาชวนเชื่อผ่านโซเชียลมีเดียไปได้บ้าง และน่าจะลดปัญหาความแตกแยกในสังคมไปได้
"ต่างๆ" - Google News
September 11, 2020 at 10:29AM
https://ift.tt/33hUVtt
'โฆษณาชวนเชื่อ' ยุคใหม่ ผ่าน'โซเชียลมีเดีย' (ตอนจบ) | ธนชาติ นุ่มนนท์ - กรุงเทพธุรกิจ
"ต่างๆ" - Google News
https://ift.tt/36O1zJu
Home To Blog
No comments:
Post a Comment