Pages

Wednesday, August 19, 2020

เด็กๆ กับ “วิกฤตการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน” (จบ) - ผู้จัดการออนไลน์

mungkinbelum.blogspot.com


ด้วยความรู้ ความก้าวหน้า ทางด้าน “ประสาทวิทยา” (Neuroscience) ยุคใหม่ๆ ที่สามารถแปลความหมายของ “สัญญาณ” ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในสมองของมนุษย์ ออกมาเป็นคำตอบ คำอธิบายได้อย่างเป็นระบบเป็นกิจการ ไม่ต่างอะไรไปจากการแปลภาษาต่างประเทศ หรือภาษาโบร่ำโบราณของพวกนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี อะไรประมาณนั้น ทำให้ในรายงานการวิจัยของ “ดร.พอล โฮเวิร์ด-โจนส์” ได้พยายามอธิบายถึงการทำงานของ “กระบวนการรับรู้” (Cognitive Processes) หรือ “ระบบการรับรู้” (Cognitive Systems) ภายในสมองของมนุษย์ ไว้อย่างน่าสนใจเอามากๆ...

คือถ้าสรุปเพื่อให้ฟังง่ายๆ ไม่ต้องปวดเศียรเวียนเกล้ากับศัพท์แสงทางวิทยาศาสตร์ หรือทางวิชาการ ก็คงประมาณว่า สมองของคนเรานั้น มันคงไม่ได้เหมือนกับก้อนเต้าหู้ หรือก้อนพลาสติก ที่ถูกแช่ทิ้งเอาไว้ในช่องฟรีซ หรือในหัวกะโหลก แต่มันเป็นอะไรบางอย่างที่เต็มไปด้วยกลุ่มสายไฟฟ้า และประจุไฟฟ้าจำนวนมหาศาล ซึ่งสามารถสลับขั้ว เชื่อมต่อ เปลี่ยนแปลง ไปตาม “ประสบการณ์” หรือ “ข้อมูล” ที่หลั่งไหลเข้าสู่ความรับรู้ของเราในแต่ละวัน แต่ละชั่วโมง แต่ละนาที วินาที นับตั้งแต่เราอุบัติมาเป็น “มนุษย์” อย่างเป็นตัว เป็นตน...

และบรรดาประสบการณ์ หรือข้อมูลที่ได้กลายมาเป็น “ความคิด” หรือ “ความทรงจำ” ภายในหัวกะโหลก หรือภายในสมองของเรานั้น เอาไป-เอามาแล้ว...มันไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกเก็บกักเอาไว้เฉยๆ เหมือนอย่างที่เราโหลดข่าวสารข้อมูล โหลดหนังโป๊ ฯลฯ หรืออะไรต่อมิอะไรก็แล้วแต่ เข้าไปเก็บในแฟ้ม ในไฟล์ต่างๆ ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยจะเปิดดูเมื่อไหร่ หรือดีลีตทิ้งเมื่อไหร่ก็ย่อมได้ เพราะแทบไม่ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาใดๆ ต่อตัวคอมพิวเตอร์ หรือระบบการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด ต่างไปจากประสบการณ์และข้อมูลที่ได้กลายมาเป็น “ความคิด” หรือ “ความทรงจำ” ภายในสมองของเรา ที่แม้ไม่ได้คิดเปิดแฟ้มออกมาดู หรือพยายามดีลีตทิ้ง พยายามลืมๆ ไม่เก็บเอามาคิด เอามาสนใจ แต่มันกลับสามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆ ต่อความเป็นไปในหัวสมองของเราได้อย่างมากมายมหาศาล สามารถทำให้เกิดความโง่ ความฉลาด ความสุขุมไตร่ตรอง ความหุนหันพลันแล่น ความโต-ไม่โตทางวุฒิภาวะ ไปจนถึงการก่อให้เกิดพฤติกรรมและอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ หรือพูดง่ายๆ ก็คือสิ่งที่เรา “รู้” นั้น ไม่เพียงแต่ส่งผลให้เรารู้ แต่ยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ภายในสมองของเรา ตัวตนของเรา โดยมีหลักฐานและมี “ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์” ที่สามารถเอามายืนยัน นั่งยัน นอนยัน ได้อย่างเป็นที่แน่ชัด...

หรือทำให้หลักฐานและข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้...แทบไม่ได้ต่างอะไรไปจากคำพูด คำสอน คำเทศนา ของพระสงฆ์องค์เจ้า หรือพระอริยสงฆ์ในบ้านเรา อย่าง อาจารย์ “ชา สุภัทโท” ที่เคยได้ออกปากเตือนๆ บรรดาสานุศิษย์และใครต่อใครเอาไว้นานแล้วนั่นแหละว่า... “เธอจงระวังความคิด (ความรับรู้) ของเธอ เพราะความคิดของเธอจะกลายเป็นความประพฤติของเธอ เธอจงระวังความประพฤติของเธอ เพราะความประพฤติของเธอจะกลายเป็นความเคยชินของเธอ เธอจงระวังความเคยชินของเธอ เพราะความเคยชินของเธอจะกลายเป็นอุปนิสัยของเธอ และเธอจงระวังอุปนิสัยของเธอ เพราะอุปนิสัยของเธอจะกำหนดชะตากรรมของเธอไปตราบเท่าชั่วชีวิต” อะไรประมาณนั้น...

ดังนั้น...การนำเอาความรับรู้ ข้อมูล และความทรงจำต่างๆ โดยอาศัยอุปกรณ์ เครื่องมือประเภทเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งหลาย ไม่ว่าคอมพิวเตอร์ วิดีโอเกม อินเทอร์หน่ง อินเทอร์เน็ต มือถง มือถือ ฯลฯ ใดๆ ก็แล้วแต่ เป็นตัวหลัก หรือเป็นอุปกรณ์สำคัญในการสร้างความรับรู้ หรือพัฒนาความรับรู้ในแต่ละเรื่อง แต่ละกรณี ไปๆ-มาๆ...มันกลับเป็นตัวก่อให้เกิด “อัตราเสี่ยง” ที่สูงเอามากๆ ไม่เพียงแต่ต่อระบบการรับรู้ หรือต่อลักษณะของข้อมูลและความรู้นั้นๆ แต่ยังมีผลต่อ “ระบบการทำงานของสมอง” อีกต่างหาก อันเนื่องมาจาก “สมอง” (Brain) ที่มีสุขภาพดี หรือมีประสิทธิภาพที่ดี เป็นสิ่งที่ถูกควบคุมเอาไว้ด้วย “จิตใจ” (Mind) อย่างมิอาจแยกออกจากกัน หรือมิอาจปฏิเสธได้ แต่ด้วยความพยายามที่จะนำเอาสิ่งเร้าต่างๆ เข้าไปเป็นกระตุ้นให้เกิดความรับรู้ โดยอุปกรณ์ เครื่องมือ ประเภทเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งหลายนั้น มักเป็นตัวส่งผลให้ “จิตใจ” ที่เป็นตัวควบคุมระบบการทำงานของ “สมอง” เกิดอาการ...เสื่อมลงๆ อย่างมีหลักฐานและข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์รองรับเอาไว้โดยชัดเจน...

ไม่ว่าก่อให้เกิดลักษณะอาการแบบที่เรียกๆ กันในทางวิชาการ หรือในทางวิทยาศาสตร์ว่า “Multitasking” หรือการทำงานหลายๆ อย่างภายในช่วงเวลาเดียวกัน อันจะนำไปสู่พฤติกรรมแบบที่เรียกว่า “สมาธิสั้น” วอกๆ แวกๆ หรือนำไปสู่อาการป่วยชนิดหนึ่ง ที่เรียกกันว่า “โรคเอดีเอชอี” (Attention-Deficit Hyperactive Disorder -ADHD) ที่ทำให้เกิด “ความอ่อนล้าในระบบสมอง” เกิดสภาวะ “ไร้การควบคุมทางจิตใจ” (Mental Disorder-DSM) เกิดอาการ “เสพติดคอมพิวเตอร์” (Computer Addicts) “เสพติดเกม” (Gaming Addicts) อันเนื่องมาจากสมองส่วนกลางได้หลั่งสารที่ก่อให้เกิดความสุข ความพึงพอใจแบบซ้ำๆ ไม่ต่างไปจากสารซึ่งเกิดจากการใช้ยาเสพติด ที่สามารถนำไปสู่ “โรคสมองเสื่อม” (Alzheimer) ในระยะยาว ฯลฯ ฯลฯ...

หรือสรุปง่ายๆ ว่า...แม้ว่าบรรดาเทคโนโลยี เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่เราทั้งหลายเคยคิดว่า มันจะเป็นตัวช่วยถ่ายทอดประสบการณ์ ข้อมูลข่าวสาร ช่วยในการรับรู้ หรือช่วยพัฒนาระบบการเรียนรู้ ให้กับใครต่อใครตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาดูโลก ไปจนกระทั่งเติบโตขึ้นเป็นผู้หลัก-ผู้ใหญ่ ช่วยเชื่อมโลก ช่วยร่นระยะทาง ช่วยลบเส้นเขตแดน อันทำให้มวลมนุษยชาติทั้งหลายกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนอาจทำให้โลกทั้งโลกพัฒนาไปสู่จุดสูงสุดในยุคแห่งการปฏิวัติทางเทคโนโลยี ยุคแห่งคลื่นลูกที่สาม ลูกที่สี่ ยุค 5G, 6G หรือกี่ G ก็ตามที แต่ไปๆ-มาๆ แล้ว บรรดาเครื่องมือ-เครื่องใช้เหล่านี้นี่เอง มันกลับส่งผลให้เกิดการ “ลดทอนประสิทธิภาพความเป็นมนุษย์” ไม่ว่าในทางร่างกาย (สมอง) หรือทางจิตใจ ให้มีแต่ต้องเสื่อมโทรม ทรุดโทรมลงไปทุกที จนไม่ว่าประเทศไหน สังคมไหน รวมทั้งสังคมไทย หรือประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮาก็เถอะ ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องเจอกับ “วิกฤตการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน” หรือ “Unprecedented Crisis” ได้เสมอๆ โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ เอาเลยก็ว่าได้...

คราวนี้...ถ้าจะถามว่า แล้วหนทาง “แก้ไข” หรือ “แก้ปัญหา” วิกฤตการณ์ที่ว่า ควรจะเป็นไปในแบบไหน วิธีไหน แบบต้องเร่งจัดตั้ง “ม็อบปกป้อง” “ม็อบไดโนเสาร์” หรือ “ม็อบเหรียญทอง” ฯลฯ ไว้สู้กับ “ม็อบปลดแอก” หรือ “ม็อบเด็กๆ” หรือไม่ อย่างไร? อันนั้น...คงต้องปล่อยให้ใครต่อใครเขาว่ากันไปตามมี-ตามเกิด ก็แล้วกัน แต่ถ้าว่ากันตามแนวทางของบรรดานักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย อย่างเช่นนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านยีน ดีเอ็นเอ และการทำงานของระบบสมอง ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ผู้มีนามกรว่า “ดร.เจอรัลด์ แครบทรี” (Gerald Crabtree) ซึ่งได้พยายามค้นคว้า วิจัย ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสติปัญญาของมนุษย์กับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จนกลายมาเป็นรายงานที่ก่อให้เกิดความตื่นเต้น ฮือฮา มิใช่น้อย เมื่อช่วงปี ค.ศ. 2013 และได้ให้ชื่อเอาไว้ว่า “Our fragile intellect” หรือ “ความบอบบางทางสติปัญญาของเรา” โดยอาศัยข้อสรุปจากข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ต่อหนทางแก้ปัญหาต่อวิกฤตดังกล่าวว่า “เหลืออยู่เพียงหนทางเดียวเท่านั้น” นั่นคือ... “เราต้องเริ่มต้นเผชิญหน้ากับปัญหาด้วยการยอมรับความจริงที่ว่า ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กำลังบอกกับเราว่า วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับปัญหาเหล่านี้ ก็คือ การหันไปอาศัย...ศีลธรรม หรือการหาทางฟื้นฟูความดีงามในหมู่มนุษย์ ให้กลับคืนมาให้จงได้” อันน่าจะเป็น “คำตอบ” เดียวกันกับที่นักการศาสนา อย่าง “ท่านพุทธทาสภิกขุ” ท่านเคยย้ำแล้ว ย้ำอีก มานานแล้วนั่นแหละว่า... “ศีลธรรมไม่กลับมา-โลกาจะวินาศ” ทำนองนั้น...

Let's block ads! (Why?)



"ต่างๆ" - Google News
August 20, 2020 at 11:10AM
https://ift.tt/34fTIFf

เด็กๆ กับ “วิกฤตการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน” (จบ) - ผู้จัดการออนไลน์
"ต่างๆ" - Google News
https://ift.tt/36O1zJu
Home To Blog

No comments:

Post a Comment